คิดนอกกระดาษ ตอน ศิลปะสร้างสรรค์จุดขาย Roppongi Hills
By Weerachon Weeraworawit, Published: 25 October 2015
ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสพาน้องๆ ทีมงาน Well Done Bangkok ไปเที่ยวพักผ่อนประจำปีที่ญี่ปุ่น หลังจากที่เคยพาไปตะลุยเกียวโตและโอซาก้ามาแล้ว ปีนี้ก็เลยเลือกปักหมุดไปลงที่โตเกียวดูบ้าง
เป้าหมายหลักในการพาออฟฟิศไป Outing ที่ไหนซักแห่ง อยู่ที่จุดหมายปลายทางที่หวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงาน ถึงเปลือกนอกจะดูเป็นการไปท่องเที่ยวก็ตาม แต่โดยเนื้อแท้ มันควรเป็นการเดินทางที่ทำให้ทีมงานได้ออกไปพบเห็น ได้ดื่มด่ำซึมซับศิลปะการใช้ชีวิตของผู้คนที่นั่น ได้ไปชื่นชมผลงานศิลปะและดีไซน์ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันความเจริญมาสู่ประเทศของเขา สร้างแรงขับให้กับทีมงานในการกลับมาสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ให้กับลูกค้าในประเทศไทยเรา
นั่นทำให้ญี่ปุ่นเป็นตัวเลือกลำดับแรกตลอดมา นอกจากจะไปง่ายไม่ต้องขอวีซ่าอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ประเทศนี้ยังตอบโจทย์ทุกข้อข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านอาหารการกินที่ได้รับการยกย่องให้เป็น Gourmet Capital of The World เมืองหลวงในด้านโภชนาการของโลก เนื่องจากมีร้านอาหารที่ได้ Michelin Star มากที่สุดในโลก การที่ผู้คนในบ้านเมืองมีระเบียบวินัยและมีความเป็นชาตินิยมสูง มีวัฒนธรรมสมัยใหม่ปะปนอยู่กับคลื่นอารยธรรมสมัยอดีต มีสถาปัตยกรรมทันสมัย ผสานเข้ากับย่านที่อยู่อาศัยแบบเดิมๆ ได้อย่างน่าสนใจ สีสันการแต่งกายของผู้คนผนวกกับแหล่งช้อปปิ้งที่มีอยู่มากมาย ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะหลากหลายรูปแบบ การเสพอาร์ตที่นี่จึงมีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะมองหาอาร์ตเพียวๆ หรืออาร์ตเบาๆ
เนื่องจากเป็นทริประยะสั้น ใช้เวลาในโตเกียวแค่ 5 คืน เราจึงเลือกพิพิธภัณฑ์ประมาณ 3 แห่ง เริ่มจากทัวร์อาร์ตเบาๆ ให้อารมณ์สดใสตลอดทริป กับคาแรคเตอร์การ์ตูนยอดนิยมแห่งยุคที่พิพิธภัณฑ์ Fujiko F. Fujio Museum หรือพิพิธภัณฑ์โดราเอมอน ที่เมือง Kawasaki บ้านเกิดของ Fujiko F. Fujio ศิลปินผู้ให้กำเนิดแมวน้อยแสนรักและแสนล้ำของชาวโลก โดยต้องนั่งรถไฟออกจากโตเกียวไปประมาณหนึ่งชั่วโมง และถ้าใครจะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แนะนำให้ซื้อตั๋วล่วงหน้านะครับ กันผิดหวัง
ตามมาด้วยทัวร์อาร์ตที่ให้ความรู้ตรงกับสายงานโฆษณาที่พิพิธภัณฑ์ Advertising Museum Tokyo ที่ก่อตั้งโดย Dentsu ยักษ์ใหญ่เอเจนซี่โฆษณาระดับโลกสัญชาติญี่ปุ่น ที่รวบรวมผลงานโฆษณาของประเทศพวกเขาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง ตั้งแต่ยุคเอโดะเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนเลยทีเดียว
ซึ่งการไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ยากครับ อยู่ที่ Shimbashi ห่างจากตลาดปลา Tsukiji สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของนักชิมแค่สถานีเดียว แถมอยู่ใกล้ Ginza ย่านขวัญใจนักช้อปอีกด้วย
ปิดท้ายทัวร์อาร์ตด้วยทริปครึ่งวันที่ Roppongi Hills อาณาจักรศูนย์การค้าใหญ่ที่สุดในประเทศ เอ๊ย! ไม่ใช่ ที่นี่เป็นโครงการพัฒนาที่ดินที่ทะเยอทะยานที่สุดของญี่ปุ่น โดยอัครมหาเศรษฐีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ Minoru Mori ผู้เพิ่งล่วงลับไปเมื่อสามปีก่อน เป็นโปรเจ็คต์สานฝันที่ Mori วาดหวังให้เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตยุคใหม่ในศตวรรษใหม่ของคนญี่ปุ่นแบบครบวงจร อาณาจักรแห่งนี้จึงประกอบไปด้วยออฟฟิศ คอนโด ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม โรงหนัง สวนพักผ่อน ลานกิจกรรม ใช้เวลารวบรวมพื้นที่ในการก่อสร้างกว่า 14 ปี บนเนื้อที่กว่าแสนตารางเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2003
ถ้า Roppongi Hills เป็นเมกะโปรเจ็คต์ที่ประกอบไปด้วยออฟฟิศ ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ดังที่กล่าวมา คุณผู้อ่านคงร้องยี้ ใช่มั้ยครับ ว่าเมืองไทยก็มี แถมมีตั้งหลายที่ แต่สิ่งที่เมืองไทยไม่มีและยังไม่เคยเห็นว่ามหาเศรษฐีท่านไหนจะบรรจุไว้ในโครงการพัฒนาที่ดิน และนำมาเป็นจุดขายอย่างจริงจังเลยก็คือ พิพิธภัณฑ์ ในขณะที่ Roppongi Hills มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ลอยฟ้าที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก Mori Arts Center Gallery และ Mori Art Museum ตั้งอยู่บนชั้น 52 และ 53 ของอาคารหลัก Roppongi Hills Mori Tower พิพิธภัณฑ์พี่น้อง 2 แห่งนี้ไม่มี Permanent Exhibition จัดโชว์งานศิลปะถาวรแบบพิพิธภัณฑ์ทั่วไป แต่จะสับเปลี่ยนนำงานอาร์ตต่างๆ มาจัดแสดงเป็นระยะๆ ตลอดปี อย่างในปีนี้ ช่วงที่ทางออฟฟิศ Well Done ไปเยือนเป็นจังหวะพอดีกับที่ทาง Mori Arts Center Gallery ได้จัดโชว์งาน The Art of Gundam สุดยอดแอนิเมชั่นขวัญใจชาวโลกที่มีการนำภาพเสก็ตช์ต้นแบบย้อนกลับไปตั้งแต่แรกเริ่มปี 1979 จนถึงปัจจุบันมานำเสนอแบบละเอียดยิบ แถมท้ายด้วยทิศทางที่ Franshise หุ่นยนต์ตัวนี้จะไปต่อในอนาคต เอาใจแฟนๆ Manga เรื่องเยี่ยมนี้แบบครบทุกแง่ทุกมุม
จุดที่น่าสนใจและชวนให้พูดถึงเป็นอย่างมากคือการโฆษณา Roppongi Hills ตลอดเวลาในโตเกียว เราจะไม่ค่อยได้เห็นภาพหรือหนังโฆษณาเชิญชวนให้คนแวะไปใช้ชีวิตที่อาณาจักรแห่งนี้ หากแต่จะได้เห็นภาพของหุ่น Gundam เต็มบ้านเต็มเมือง ทั้งในสถานีรถไฟใต้ดิน บนดิน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ออนไลน์ ไปจนถึงหนังโฆษณา เรียกได้ว่ามาครบทุกสื่อ แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์สื่อสารการตลาดที่เลือกใช้นิทรรศการศิลปะที่จัดแสดงเป็นแกนนำ
เหมือนก่อนหน้านี้เมื่อต้นปีก่อนที่ผมไปเที่ยวโตเกียวเป็นการส่วนตัว ตอนนั้นก็จะได้เห็นรูปของ Snoopy ทุกหนทุกแห่ง สอดรับกับการจัดโชว์ Ever and Never: The Art of Peanuts ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดในการโหนกระแสไปกับงานศิลป์ ยิ่งเมื่อพิจารณาจากกระแสความนิยมที่แฟนๆ มีต่อ Snoopy และ Gundam เป็นการโอนถ่ายความรักใคร่ของแฟนๆ ที่มีต่อคาแรคเตอร์การ์ตูนยอดฮิตมาสู่สถานที่จัดงาน ทำให้เกิดการพูดถึง แวะเยี่ยมชม และต่อยอดสร้างการมีส่วนร่วมกับสถานที่ด้วยการจัดสัมมนา เวิร์คชอปต่างๆ ดึงดูดคนให้เข้ามาใช้ชีวิตที่ Roppongi Hills ได้อย่างแยบยล
พูดถึงการต่อยอดแล้ว ต้องยกเครดิตให้คนญี่ปุ่นเค้าจริงๆ นี่ล่าสุดพอเห็นว่ากระแสความคลั่งไคล้ในตัวคาแรคเตอร์ Snoopy และ Charlie Brown ผลงานอมตะของ Charles M. Schulz เข้าขั้นฟีเวอร์ที่ญี่ปุ่น พวกเขาก็เลยจะเปิด Snoopy Museum แบบยาวๆ สองปีครึ่งซะเลย ในปี 2016 ในบริเวณ Roppongi Hills นั่นแหละ สอดประสานไปกับหนังการ์ตูน 3D เรื่อง The Peanuts Movie ที่กำลังจะออกฉายที่อเมริกาและที่ญี่ปุ่นปลายปีนี้ ทำให้ชวนสงสัยว่าการจัดแสดง The Art of Gundam ในปีนี้ เป็นปฐมบทเรียกน้ำย่อยหรือเปล่า ก่อนที่จะเปิดตัวหนัง Gundam เวอร์ชั่นใหม่ออกสู่สาธารณชนวงกว้างอย่างเต็มตัว
อันที่จริง เราจะรู้สึกได้ถึงพลังของงานศิลปะตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าไปใน Roppongi Hills แล้ว ด้วยผลงาน Sculpture แมงมุมขนาดยักษ์ Maman ของ Louise Bourgeois อันเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่ชักชวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาถ่ายรูป นอกจากนี้ ลานกิจกรรมที่ด้านล่าง ยังเปิดกว้างรับงาน Installation ใหม่ๆ สร้างกระแสการพูดถึงอย่างสม่ำเสมอ อย่างตอนที่เราเพิ่งเดินทางไปถึงโตเกียววันแรกแล้วนัดดินเนอร์กับเพื่อนที่อาศัยอยู่ที่นั่น เขาก็แนะนำให้ไปดูหุ่นโดราเอมอนที่หน้า Roppongi Hills พอได้ไปดูของจริงก็ถึงกับอึ้ง เพราะมีกองทัพหุ่นโดราเอมอนหลายสิบตัวในอิริยาบถที่แตกต่างมาติดตั้งอยู่ เพื่อโปรโมตหนังโดราเอมอนเรื่องใหม่ Birth of Japan ที่จะออกฉายในปีหน้า แถมหุ่นบางตัวยังมี QR Code ให้แฟนๆ ร่วมสนุกสะสมแต้มชิงของรางวัลอีกด้วย
หลังจากนิทรรศการ The Art of Gundam แล้ว ปลายปีนี้ The Mori Art Museum ก็จะจัดแสดงงานของ Takashi Murakami ศิลปินป๊อบอาร์ตชาวญี่ปุ่นที่เรารู้จักกันดีจากเส้นสายลายกราฟิกที่เขาสร้างสรรค์ให้กับ Louis Vuitton จนได้รับสมญานามว่าเป็น The Warhol of Japan นิทรรศการใหม่นี้นอกจากจะเรียกเสียงฮือฮาในกลุ่มคนญี่ปุ่นที่หลงใหลในแบรนด์เนมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งหมัดเด็ดที่จะช่วยเรียกแขกและสร้างภาพลักษณ์เหนือระดับให้กับ Roppongi Hills
โดยไม่ต้องใช้ภาพหรือข้อความโฆษณาที่โก้หรู แต่อย่างใด!
Leave a Reply