By Weerachon Weeraworawit, Published: 15 May 2012
เดือนมิถุนายนจัดได้ว่าเป็นเดือนสำคัญที่สุดของคนโฆษณา ทำไมเหรอครับ? ก็เพราะเทศกาล Cannes International Festival of Creativity มีขึ้นเป็นประจำในเดือนนี้ โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 23 มิถุนายนครับ ถึงแม้จะมีรางวัลโฆษณาใหญ่ ๆ ระดับโลกอื่น ๆ อีกอย่าง The One Show ประเทศอเมริกา D&AD ประเทศอังกฤษ ฯลฯ แต่เป็นที่ยอมรับกันในวงการโฆษณามายาวนานว่าเวที Cannes ประเทศฝรั่งเศสนี่แหละ ที่เป็นพี่ใหญ่ตัวจริง ถ้าเปรียบกับเวทีประกวดภาพยนตร์ก็เท่ากับรางวัล Oscars เป็นนคร Mecca ของคนโฆษณาที่ต้องไปเยือนให้ได้ซักครั้งในชีวิต
ดังนั้นพอคณะกรรมการจัดงานคานส์ส่งเทียบเชิญมาให้ผมเดินทางไปเป็นกรรมการตัดสินงานโฆษณาในหมวด Film Lions หรือหนังโฆษณาทั่วโลกในปีนี้ ผมจึงไม่ลังเลใจเลยที่จะตอบรับ การไปคานส์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ของผม ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2007 หนนั้นผมได้รับเชิญไปเป็นกรรมการตัดสินงานในหมวด Outdoor Lions ซึ่งครั้งนั้นผมยังจำได้ดีว่าเป็นปีที่งานโฆษณาไทยคึกคักสุด ๆ ครั้งนึงเลยทีเดียว กวาดรางวัล Gold Lions กลับบ้านมาได้ถึง 5 ตัว เฉพาะในหมวด Outdoor ที่ผมตัดสินเนี่ยก็ได้ไปสองตัว หมวด Press ที่พี่โต้ง Y&R ตัดสินก็คว้าอีกสองตัว โดยที่ผมเองโชคดีสุด ๆ ที่งานโฆษณาของตัวเองบังเอิญได้รางวัล Gold Lion ในหมวด Promo & Activation ในปีนั้นด้วย ทำให้ได้ขึ้นไปรับรางวัลกับมือบนเวที บอกได้เลยครับว่า เป็นความรู้สึกที่สุดยอดมาก ๆ ฟินสุด ๆ อ้อ! ลืมบอกไปครับ เวทีคานส์เนี่ย เค้าจะให้เฉพาะคนที่ได้ Gold เท่านั้นนะครับขึ้นไปรับรางวัลบนเวที รางวัล Silver กะ Bronze เนี่ยไม่ได้ขึ้น นัยว่าเพื่อเป็นการกระชับเวลา ผมจึงถือว่าตัวเองโชคดีมากที่ไปอยู่ถูกที่ถูกเวลาพอดี พอวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ Lions Daily News ก็เอารูปถ่ายผมตอนขึ้นไปรับรางวัลมาลงหน้ากลางด้วย เล่นเอาเดินไปไหนมาไหนในคานส์ก็มีคนจำได้ มาทักทายแสดงความยินดี ทำเอายิ้มแก้มปริไปตลอดงาน
ครั้งที่ 2 ที่ผมไปคานส์ คือปี 2010 คราวนี้ เดินทางไปในฐานะนายกสมาคมผู้กำกับศิลป์บางกอก (B.A.D.) ไปเจรจากับคณะกรรมการจัดงานคานส์เรื่องการนำ Know How บางอย่างของเค้ากลับมาพัฒนาวงการครีเอทีฟบ้านเรา หนนั้นก็เลยเป็นการไปร่วมงานที่สนุกไปอีกแบบ เพราะพอเจรจางาน B.A.D. เสร็จปุ๊บก็ว่างเลย ได้ขับรถเที่ยวชมเมืองเล็กเมืองน้อยรอบ ๆ คานส์กับเพื่อน ๆ ครีเอทีฟที่อยู่คานส์ด้วยกันตอนนั้นคือ ชงกับตี่ คู่ดูโอนายก B.A.D. ปีถัดมา แถมได้เอาเวลาว่างที่มีเหลือเฟือ ไปเข้าร่วมฟังมุมมองของบุคคลระดับโลกในงานสัมมนาที่มีมากมายเป็นร้อยหัวข้อให้เลือกสรร หลายคนอาจไม่รู้นะครับว่าเวทีคานส์เนี่ย ไม่ได้มีแต่การมอบรางวัลโฆษณาและปาร์ตี้แล้วปาร์ตี้อีก ส่วนที่เป็นแม่เหล็กอีกอย่างของเวทีนี้คืองานสัมมนานี่แหละครับ ตลอดหนึ่งอาทิตย์ของเทศกาล เค้าจะเชิญคนนอกวงการแต่มากความคิดสร้างสรรค์มาพูดคุยเป็นไฮไลต์ในแต่ละปีครับ อย่าง Al Gore, Yoko Ono, Mark Zuckerberg ปี 2012 นี่ก็เป็น Bill Clinton ยังไม่นับคนในวงการระดับเทพอีกมากมายที่คานส์เชิญมาแชร์แง่คิด และกิจกรรม Workshop ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเทศกาล คานส์ถึงได้เก็บค่าเข้างานแพงหูฉี่คนละ 2,395 ยูโรหรือราว ๆ หนึ่งแสนบาทได้แบบสบาย ๆ โดยที่คนไปร่วมงานจะไม่รู้สึกเสียดายสตางค์เลย
มาปีนี้ เนื่องจากหมวดหนังโฆษณามีการเดินหน้ามาไกลมาก เกิดหนังรูปแบบใหม่ ๆ บนสื่อใหม่ ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ คานส์เลยตัดหนังบางส่วนแยกออกไปเป็น 2 หมวดใหม่คือ Mobile Lions กับ Branded Content & Entertainment Lions ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ทำให้งานในฐานะกรรมการเบาลงซักเท่าไหร่ เพราะในหมวดหนังโฆษณาเนี่ย นอกจากกลุ่มหนังโฆษณาในจอโทรทัศน์ปกติลักษณะฟรีทีวีอย่างกลุ่ม Product & Service ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีจากงานไทยที่ซิวสิงโตออกมาจากกลุ่มนี้ได้เป็นประจำ พอมาระยะหลัง ๆ เกิดกลุ่มใหม่ ๆ อีก 2 กลุ่ม คือ Internet Film และ Other Film Content ซึ่งในแต่ละกลุ่มยังซอยย่อยออกเป็นหัวข้อเล็ก ๆ อีกครับ โดยกลุ่ม Internet Film ซอยย่อยออกเป็น Viral Film, Long Format Internet Film, Short Format Internet Film, Branded Content Internet Film, Internet Film Series ส่วนกลุ่ม Other Film Content แบ่งย่อยเป็น Other Screens, Integrated Film, Interactive Film และเนื่องจากเป็นหนังออนไลน์ หนังแต่ละเรื่องจึงมีความยาวแบบเป็นเรื่องล่ะครับ ไปตัดสินทุกเรื่องรวดเดียวในคานส์ยังไงก็เสร็จไม่ทันงานแจกรางวัล ทางคานส์จึงต้องขอให้กรรมการหมวดหนังโฆษณาซึ่งปีนี้มี 22 คนจากทุกมุมโลก ให้ตัดสินกลุ่มหนังออนไลน์กันมาจากทางบ้านเลย โดยแบ่งหนังออนไลน์พร้อมกับกรรมการออกเป็น 3 กลุ่ม ประมาณแบ่ง ๆ กันดูก่อนน่ะครับ เพื่อจะได้คัดออกไปบ้าง ซึ่งคานส์ส่งมาให้ผมและกรรมการคนอื่น ๆ ดูตั้งแต่ 23 พฤษภาคม ให้เวลาหนึ่งอาทิตย์กับหนังยาว ๆ หลายร้อยเรื่อง โอ้ว! จนป่านนี้ ยังตาลายไม่หายเลยครับ
ผมแนบภาพมาให้ดูด้วยนะครับ จะได้เห็นกระบวนการให้คะแนนทางออนไลน์รอบแรกที่เพิ่งเสร็จไป คานส์เรียก Preliminary Voting Round ครับ ส่วนผมอยากจะเรียกมันว่า Be Prepared! We’ll hurt your eyes more in Cannes! ซึ่งวิธีให้คะแนนของเวทีคานส์จะให้กรรมการโหวตบนตัวเลข 1-9 ครับ โดยแบ่งเป็นสามกลุ่มคะแนน 1-3 หมายถึง ไม่สมควรเข้ารอบ 4-6 หมายถึง อืมม์! ไม่ค่อยแน่ใจแฮะ ว่าควรให้เข้ารอบดีมั้ย และ 7-9 หมายถึง ยังไงก็ต้องเข้ารอบทั้งอาจจะเป็นงานที่ชนะเลิศได้สิงโตกลับบ้านด้วย และกลุ่มตัวเลข 1-9 ก็จะติดตามกรรมการไปตามรอบต่างๆ ที่จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แต่ปรับเนื้อหาให้เข้ากับรอบนั้น ๆ เช่น รอบสุดท้ายหางานชนะ Gold Lion คะแนน 7-9 ก็จะหมายถึงงานนั้นสมควรได้รับ Gold Lion คะแนน 4-6 หมายถึง ไม่แน่ใจ 1-3 หมายถึง ไม่สมควรได้ Gold เห็นอะไรแปลก ๆ อยู่อย่างมั้ยครับ ตรงกลุ่มคะแนน 4-6 ที่บอกถึงความไม่แน่ใจนี่แหละ ตอนตัดสิน Outdoor Lions ปีนู้น ผมกับเพื่อนกรรมการฝรั่งหลาย ๆ ก็ยี้ใส่ อะไรกัน มีไม่แน่ใจด้วย ชิ! งานดีก็ต้องเข้ารอบสิ งานแย่ก็สมควรต้องตกรอบ อย่ากระนั้นเลย พวกเราโหวตด้วยกลุ่มคะแนน 1-3 กับ 7-9 แค่นั้นดีกว่า เพื่อให้งานที่ดีกับไม่ดีคะแนนขาด ๆ กันไปเลย ฮ่าๆ! โหวตแบบนั้นไปได้ซักพักก็ได้เรื่อง ทางคานส์ขอให้ย้อนกลับมารีโหวตกันใหม่ เพราะทำให้คะแนนแกว่ง และชี้แจงว่า ที่ต้องมีกลุ่มคะแนนนี้เพื่อให้งานที่มีความน่าสนใจบางอย่างหลุดเข้ามาถึงรอบ Discussion ให้กรรมการทุกคนได้พูดคุยกันดูว่าทำไมงานที่บางที กรรมการบางคนดูแล้วเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ทำไมยังมีอะไรจนได้คะแนนมากพอจากกรรมการคนอื่น ๆ ให้มาพิจารณากันอย่างถ้วนถี่ อื้ม! ก็ต้องนับถือความโปรฯของคานส์จริง ๆ ครับที่คิดเรื่องนี้ขึ้นมาได้ เพราะก็เคยมีหนังโฆษณาที่กรรมการหลายคนดูแล้วงง ๆ กันมากเรื่องนึงในสมัยก่อน ประมาณชอบนะแต่ก็งง ๆ ว่าหนังเรื่องนี้มันจะบอกอะไรกันแน่ฟะ แต่ด้วยความที่เสียงกรรมการคานกันนี่แหละครับ ทำให้หนังเรื่องนั้นจากที่เคยร่อแร่ ๆ ทำท่าจะตกรอบกลับกลายเป็นคว้ารางวัลใหญ่ Gran Prix หรือ Best of Films ไปซะได้ นั่นก็คือ Wassup! ของ Budweiser ไงล่ะครับ
พอมาปีนี้ ผมก็เลยตัดสินตามวิธีให้คะแนนของคานส์เป๊ะ (ขี้เกียจกลับมารีโหวตเหมือนปีก่อนด้วยล่ะครับ แฮ่!) แล้วก็เห็นได้ชัดเลยครับว่าในกลุ่มหนังออนไลน์เนี่ย หินโคตร! เพราะ Criteria ในกระบวนการคิดของกรรมการ นอกจากจะพิจารณาบนไอเดียเป็นหลักเหมือนหนังโฆษณาปกติแล้ว หนังออนไลน์ไม่ใช่แค่ต้องข้ามเส้นวัฒนธรรม ทำให้กรรมการทั่วโลกเข้าใจและรู้สึกกับมัน ทั้งยังต้องข้ามเส้นไอเดีย สร้าง Entertain Value ชั้นสูงให้ได้ด้วย อ้าว! ก็เป็นหนังออนไลน์นี่ครับ ถ้าดูแล้วไม่อยาก Interact กับมันก็จะไม่เกิดการส่งต่อ นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว หนังโฆษณาออนไลน์ดี ๆ มีเยอะมากครับ ทั้งที่หนังที่ผมดูเป็นแค่หนึ่งในสามของที่ทางคานส์แบ่งกลุ่มมาให้ แต่ก็มีหนังดี ๆ ให้จดจำไม่หวาดไม่ไหว แล้วคิดดูสิครับ พอไปรวมกับอีกสองในสามที่เหลือ กลุ่มหนังออนไลน์เนี่ยจะหินขนาดไหน เรียกได้ว่า เป็น Group of Death กันเลยทีเดียว ถ้ามีหนังโฆษณาไทยไปถึง Gold Lion ในกลุ่มนี้ได้ คนที่เป็นเจ้าของผลงานควรจะภูมิใจได้สุด ๆ เลยล่ะครับ
ผมลองคัดหนังบางเรื่องในกลุ่มที่ผมเพิ่งตัดสินทางออนไลน์ผ่านไป และเห็นว่าเป็นตัวเก็งมาฝากครับ เชื่อว่า คนที่สนใจติดตามงานโฆษณาทั่วโลกอยู่เรื่อยๆ น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นหนังเรื่องอะไรบ้าง แต่ถ้ายังไม่เคยดู ก็ลองคลิกตามลิงค์ในภาพได้เลยครับ
ฉบับหน้า ผมจะพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสบรรยากาศในห้องตัดสินและเวทีคานส์กันนะครับ รับประกันความดุเด็ดเผ็ดมันสลับกับภาพปาร์ตี้มันส์ ๆ ก็หวังว่าในปีที่วงการครีเอทีฟบ้านเราซบเซาแบบนี้ จะมีหนังโฆษณาไทยไปถึงฝั่งฝันซักเรื่องก็ยังดีครับ ผมบินไปตัดสินกลางเดือนมิถุนายนนี้ ถึงตอนที่หนังสือพิมพ์ชาวเราวางแผงก็คงรับรู้กันไปแล้วว่า มีงานไทยงานไหนบ้างที่ได้เฮ ส่วนออฟฟิศ Well Done Bangkok ของผม ปีนี้ ขอบายครับ ไม่ส่งงานเข้าร่วมประกวด ผมแค่พา Managing Partner บินไปเข้าร่วมสัมมนาที่คานส์ เปิดหูเปิดตา ดูงานชาวโลกที่นั่นแล้วสนุกกับเทศกาลก็พอล่ะครับ สวัสดีครับ…
Leave a Reply