Global Review: Advertising ตอน ขอ 3 คำ กำจัดการเหยียดผิว
By Weerachon Weeraworawit, Published: 20 October 2016
ไม่น่าเชื่อ ที่ความคิดโบราณเต่าล้านปีอย่างการเหยียดสีผิวจะอยู่ยืนยงมาถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในประเทศต้นตำรับสิทธิเสรีภาพของชนชาวโลก อย่างสหรัฐอเมริกา
เราจึงเคยเห็นเหตุการณ์น่าตระหนกในปี ค.ศ. 1992 ที่คนผิวดำในลอสแอนเจลิสพร้อมใจกันลุกฮือขึ้นมาเผาบ้านเผาเมืองตัวเอง จากผลการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมในเหตุการณ์ที่ตำรวจผิวขาว 4 นาย รุมตื้บหนุ่มผิวดำ Rodney King ด้วยข้อหาเล็กๆ คือขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ครั้งนั้น จะทำให้สังคมอเมริกันได้ทบทวนหวนนึก หาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดังวาทะอมตะ Can we all get along? ที่ Rodney King ได้กล่าวไว้ในการเรียกร้องเพื่อนผิวดำให้ยุติเหตุวุ่นวาย ที่ทำให้มีคนตายไปหลายสิบคนในครั้งนั้น แต่มาถึงวันนี้ สันติวิธีที่เคยสมานประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวก็ดูจะคลายมนต์ขลัง
เหตุเพราะคนรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมา ต่างมีอายุเลยช่วงเหตุจลาจลเผาบ้านเผาเมืองในคดี Rodney King จึงไม่ได้ซึมซาบถึงความรุนแรงและความเสียหายของวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นตามมา บวกกับอคติที่มีต่อคนต่างผิวสียังคงฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน
ทำให้เราได้เห็นเหตุจลาจลโดยคนผิวดำครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ. 2013 เมื่อศาลสั่งปล่อยตัว George Zimmerman ยามชาวละติน ที่ยิงวัยรุ่นผิวดำ Trayvon Martin เสียชีวิต ต่อเนื่องตามมาด้วยเหตุการณ์ตำรวจยิงคนผิวดำตายในหลายๆ เมือง แล้วรอดพ้นการต้องโทษจำคุก อันนำมาสู่การตอบโต้ด้วยความรุนแรงต่อตำรวจโดยอดีตทหารผ่านศึกผิวดำในเมืองดัลลัส ทำให้ผู้คนที่นั่นอยู่ด้วยความระส่ำระสายวุ่นวายมาจนถึงทุกวันนี้
และทำให้เราได้เห็นพลังของถ้อยคำ เมื่อถูกนำไปใช้ถูกที่ถูกเวลา คำง่ายๆ เพียงไม่กี่คำ ก็สร้างพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ กลายเป็นตัวแทนของยุคสมัยไปในพริบตา นั่นคือคำ 3 คำที่ประกอบขึ้นเป็นข้อความว่า Black Lives Matter ซึ่งแรกเริ่มเดิมที ได้ถูกโพสต์ขึ้นประกอบคำปลอบใจคนผิวดำบนเฟสบุ๊คโดย 3 สาวนักเคลื่อนไหวทางสังคม Alicia Garza, Patrisse Cullors, Opal Tometi ด้วยความอัดอั้นตันใจที่มีต่อผลการตัดสินคดี Trayvon Martin อย่างค้านสายตาคนทั้งประเทศ ณ เวลานั้น
ต่อมาไม่นาน พวกเธอยังทำให้ข้อความง่ายๆ นี้เป็นที่นิยมแบบไฟลามทุ่ง ด้วยการใช้เครื่องมือที่ง่ายที่สุดบนโลกโซเชียล โดยการติดแฮชแท็ค #BlackLivesMatter บนสื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้ง Facebook, Twitter, Tumblr ทำให้ข้อความนี้เป็นตัวแทนของหัวข้อที่คนผิวดำพูดถึงความไม่เป็นธรรมกันบนโลกออนไลน์ และเกิดการแชร์เรื่องราวเหล่านั้นอย่างแพร่หลายได้ในเวลาอันรวดเร็ว
แต่พวกเธอได้มาตระหนักถึงพลังจริงๆ ของมัน ก็ในปีถัดมา ในปี ค.ศ. 2014 เมื่อพวกเธอได้ไปร่วมเดินขบวนประท้วงเหตุการณ์ที่ตำรวจยิงวัยรุ่นผิวสี Michael Brown เสียชีวิตที่เมืองเฟอร์กูสัน แล้วพบว่า Black Lives Matter ได้กลายเป็นข้อความหลักบนป้ายผ้า บนเสื้อยืด ห่วงข้อมือ ไปจนถึงบนริมฝีปากของฝูงชนนับแสนนับล้านทั่วประเทศ ที่พร้อมใจกันตะโกนข้อความนี้ออกมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นต้นทางให้เกิดกระแสเรียกร้องสิทธิของคนผิวขาว All Lives Matter เรียกร้องความเห็นใจให้กับตำรวจ Blue Lives Matter เกิดขึ้นตามมา
แม้แต่เจ้าพ่อเอเจนซี่โฆษณาอิสระ Wieden + Kennedy ยังอดรนทนดูความอยุติธรรมไม่ไหว เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ยังต้องเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ wk.com ของตนเองเป็นข้อความนี้ หลังเกิดเหตุการณ์สังหารคนผิวดำโดยตำรวจ (อีกแล้ว) ที่เมืองแบตันรูช เพื่อช่วยสื่อสารให้อเมริกันชนและคนในเอเจนซี่ หันมาพูดคุยกันถึงสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมของเพื่อนร่วมชาติต่างสีผิว
Leave a Reply