a day: number 191: And The Winner Is… Cannes

a day 191-coverGlobal Review: Advertising ตอน คานส์ ผู้ชนะตัวจริง

By Weerachon Weeraworawit, Published: 25 July 2016

จบไปหมาดๆ กับเทศกาลประกวดผลงานโฆษณาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก Cannes Lions International Festival of Creativity ที่จัดขึ้นระหว่าง 18-25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ป่านนี้ ครีเอทีฟที่ได้รับรางวัลสิงโตกลับบ้านคงยังหน้าบานไม่เลิก ส่วนครีเอทีฟที่วืดรับประทานแห้วก็คงหมายมั่นปั้นมือ ตั้งหน้าตั้งตาปั้นงานโฆษณาเพื่อส่งเข้าแข่งขันในปีต่อไป

มีผู้ชนะก็มีผู้แพ้ แต่ทุกปี คานส์ไม่เคยแพ้ และจะเป็นผู้ชนะตลอดกาล ตราบเท่าที่ครีเอทีฟและเอเจนซี่โฆษณาทั่วโลกยังพร้อมใจกันจ่ายเงินค่าสมัครให้กับเวทีแห่งนี้

จะไม่ชนะได้ไงครับ ในเมื่อค่าส่งผลงานเข้าประกวดแพงลิบลิ่ว แถมยังแพงขึ้นทุกปีแบบไม่ง้อเศรษฐกิจโลก โดยค่าส่งผลงานต่อชิ้นจะอยู่ระหว่าง 20,000-55,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าคุณส่งผลงานเข้าประกวดในหมวดไหน ซึ่งมีมากถึง 24 หมวดให้เลือกสรร แถมส่งผลงานเดียวกันเข้าประกวดในหมวดอื่นได้อีกด้วย พ่วงด้วยค่าบัตรเข้าชมงาน ที่มีหลากหลายแพคเกจให้เลือกเช่นกัน บัตรยอดนิยมจะเป็นแบบ Classic สนนราคาเบาะๆ 120,000 บาท เข้าชมงานได้ทุกจุดตลอด 8 วัน แต่ถ้าอยากเข้าร่วมงานเลี้ยงวันเปิด-ปิดด้วยล่ะก็ ต้องใช้บัตร VIP ราคา 200,000 บาท

จากการเปิดเผยตัวเลขรายได้จากการจัดงานในปี 2015 ค่าส่งผลงานเข้าประกวดและค่าบัตรเข้าชมนับเป็น 83% ของรายได้ในงานเลยทีเดียว มีผลงานเข้าร่วมประกวดถึงกว่า 40,000 ชิ้น จาก 90 ประเทศทั่วโลก มีผู้จ่ายเงินซื้อบัตรเข้าร่วมงาน 9,531 คน ส่วนรายได้อีก 9% มาจากสปอนเซอร์รูปแบบต่างๆ แถมท้ายอีก 8% ที่เหลือ มาจากค่าสมัครเข้าชมผลงานทางออนไลน์ และจากการขายรางวัลสิงโตทอง เงิน ทองแดง ให้กับผู้ชนะในแต่ละปี

อย่าดูถูกนะครับ เจ้าสิงโตตัวน้อยๆ เนี่ย สนนราคาตัวนึงไม่ใช่น้อยๆ ยิ่งถ้าคุณชนะรางวัลใหญ่ ราคาก็จะยิ่งแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว อย่างในหมวด Film Lions ที่เราเคยได้รางวัลบ่อยๆ และในหมวด Print Lions ที่ครีเอทีฟไทยยังคงคว้ารางวัลอย่างต่อเนื่อง ถ้าใครเคยได้รางวัลใน 2 หมวดนี้ และอยากซื้อสิงโตติดบ้านวันนี้ ต้องจ่ายให้คานส์ประมาณ 50,000 บาทต่อตัว และถ้านับรางวัล Grand Prix หรือ Best of Show ด้วยแล้ว เจ้าสิงโตตัวนั้นน่ะ ราคาจะพุ่งทะยานไปที่ 115,000 บาทเลยทีเดียว คือถ้าเอเจนซี่โฆษณาที่คุณทำงานอยู่ไม่ซื้อสิงโตให้คุณล่ะก็ คุณจะเก่งระดับมือรางวัลอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเงินประมาณนึงด้วย ในมือถึงจะมีรางวัลจริงๆ

ด้วยตัวเลขที่กล่าวมา ทำให้ในปี 2015 มีเงินไหลเข้าบริษัท Ascential เจ้าของเทศกาล Cannes Lions ผู้ชนะตัวจริง มากถึง 2,200 ล้านบาท และเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เพราะมีการเพิ่มรางวัลสิงโตขึ้นมาล่อใจอีก จากที่ในปี 2014 เพิ่ม Health Lions จูงใจนักการตลาดและนักโฆษณาหมวดสุขภาพที่กำลังมาแรง ปี 2015 เพิ่ม Innovation Lions ดึงดูดใจโปรแกรมเมอร์ อาชีพที่กำลังทำเงิน มาในปี 2016 พวกเขาได้เพิ่ม Entertainment Lions ตามกระแสการตลาดที่กำลังไหลเคลื่อนเข้าเชื่อมกับธุรกิจบันเทิงหลากสาขา

เรียกได้ว่าบริษัท Ascential ทำธุรกิจได้ฉลาดสุดๆ สามารถสร้างรายได้จากความอยากมีอยากได้ของมนุษย์ เป็นจำนวนนับพันล้านบาทต่อปี และด้วยรายได้มหาศาลที่ได้มาจาก Ego ของครีเอทีฟและบริษัทโฆษณาในแบบที่เห็นกันตำตานี่เอง ทำให้ในปี 2013 มีครีเอทีฟกลุ่มนึงจัดทำเว็บไซต์ปอกเปลือกคานส์ insteadofalion.com เปรียบเทียบให้ดูสนุกๆ ว่า เงินค่าส่งคานส์ในแต่ละปี เราน่าจะนำไปใช้ทำประโยชน์อะไรให้กับชีวิตได้บ้าง สร้างกระแสพูดถึงในวงการโฆษณาได้พอสมควร มาในปีนี้ ทางเอเจนซี่ยักษ์ใหญ่ที่ได้รางวัลคานส์บ่อยซะด้วยอย่าง BBH New York เองก็อดใจไม่ไหว กระโดดลงมาเล่นด้วย โดยจับมือกับองค์กรการกุศล Action Against Hunger ตั้งรางวัลล้อเลียนคานส์ เรียกว่า Can Gold แหย่ผู้ชนะที่ได้รางวัลสิงโตในปีนี้ ให้โยกเงินที่จะเอาไปซื้อสิงโตคานส์ มาซื้อกระป๋องอาหารสีทอง ช่วยเหลือผู้หิวโหยที่มีอยู่มากมายทั่วโลก

ให้เงินค่าสมัครเหล่านั้น ช่วยทำให้โลกใบนี้ มีผู้ชนะเพิ่มขึ้นบ้าง แม้จะเป็นผู้ชนะความหิวโหยแค่ชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดี

a day 191-article

Save

Save

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Back to top