a day: number 199: #TakeAction

Global Review: Advertising ตอน เปลี่ยนนักเลงคีย์บอร์ด เป็นนักบุญ

By Weerachon Weeraworawit, Published: 20 March 2017

หลังจากที่ประธานาธิบดีคนใหม่ โดนัลด์ ทรัมพ์ เซ็นคำสั่งห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก ไม่ให้เข้าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 4 เดือน ถึงแม้ว่าโฆษกรัฐบาลรวมถึงตัวมิสเตอร์ทรัมพ์เอง จะแถลงเลี่ยงคำว่าเป็นการตรวจสอบการเข้าเมืองอย่างเข้มข้นก็ตามที

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เท่ากับเป็นการแบนกันแบบเต็มตัว ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนนับร้อยล้านคน หมดสิทธิ์ย่างเท้าเข้าอเมริกาเป็นการชั่วคราว แถมเผลอๆ จะไม่ได้เหยียบดินแดนแห่งเสรีภาพแห่งนี้กันไปยาวๆ อย่างน้อยก็อีก 4 ปี จนกว่าประธานาธิบดีฮาร์ดคอร์ผู้นี้จะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง

ยังผลให้เกิดการประท้วงตามสนามบินใหญ่ๆ ทั่วประเทศ จากอเมริกันชนที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ มีป้ายประท้วงพร้อมข้อความคมๆ มากมาย และทำให้ข้อความ #MuslimBan, #NoBanNoWall และ #Resist กลายเป็นแฮชแท็คสุดฮิตบนโลกโซเชียล เพราะเป็นช่องทางที่ง่ายที่สุดในการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยจากผู้คนทั่วโลก โดยมีผู้พิมพ์ข้อความบนทวิตเตอร์ แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อพยพจากภัยสงครามและการทารุณกรรมในบ้านเกิด ที่ต้องพลอยตกเป็นเหยื่อของคำสั่งแบนแบบเหวี่ยงแหครั้งนี้ เฉลี่ยมากถึงวันละ 10,000 ข้อความ

นำมาสู่ไอเดียคมๆ จากเอเจนซี่โฆษณา O&M ลอนดอน ที่ออกแคมเปญรณรงค์ช่วยเหลือผู้อพยพให้กับองค์กร Amnesty ภายใต้แนวคิด Outrage is not Enough หรือ โกรธเกรี้ยวอย่างเดียวไม่พอ เพราะเพียงการโพสต์ถ้อยคำแสดงความโกรธขึ้งบนโลกโซเชียล ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อพยพให้ดีขึ้นได้ ถ้าพวกเราไม่ลุกขึ้นมาให้ความช่วยเหลือพวกเขาอย่างเป็นรูปธรรม

เกิดเป็นแคมเปญรณรงค์แนวใหม่ ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. – 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่เมื่อไหร่ก็ตามมีคนโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์แสดงความเห็นใจผู้อพยพ ทาง O&M ซึ่งเตรียมทีมสนับสนุนแคมเปญนี้ตลอดวันตลอดคืน ก็จะถ่ายทำคลิปวิดีโอสดๆ ณ เวลานั้น ด้วยการให้ผู้อพยพที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศเคนยาและเลบานอน ตอบกลับข้อความดังกล่าว แล้วส่งกลับไปหาผู้ที่โพสต์ข้อความ พร้อมติดแฮชแท็ค #TakeAction เป็นการย้ำเตือนผู้โพสต์ให้ละมือจากคีย์บอร์ด แล้วลุกขึ้นมาให้การช่วยเหลือ แต่ก่อนจะละมือ ก็เริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการเข้าไปร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ของ Amnesty เพื่อส่งให้เลขาธิการสหประชาชาติดำเนินการต่อ ทั้งแฮชแท็คนี้ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมแคมเปญในการสร้างกระแสพูดถึงบนโลกออนไลน์

ถ้ายังจำกันได้ ต้นตำรับของแคมเปญโต้ตอบกับกลุ่มเป้าหมายในลักษณะนี้คือ Old Spice Response โฆษณาครีมอาบน้ำ Old Spice โดย Wieden+Kennedy เมืองพอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกา ที่ใช้พรีเซนเตอร์สุดรั่วมาออกแอ๊คชั่นย้อนแย้งกับโพสต์ของคนทางบ้านอยู่บนยูทูบ ในปี 2010 กลายเป็นตำนาน Real Time Branding Campaign เกิดคลิปโต้ตอบสุดฮาจำนวน 186 คลิป แต่ละคลิปใช้เวลาเขียนบทและถ่ายทำกันสดๆ แค่ 10-15 นาที ด้วยอายุแคมเปญสั้นๆ เพียงแค่สองวันครึ่ง แต่เรียกกระแสความสนใจได้มากมาย โกยยอดวิวไปกว่า 65 ล้านวิว และกวาดรางวัลจากทุกสนามที่ลงแข่งขัน

และในงานหมวดส่งเสริมสังคม ก็ยังมีแคมเปญดังอย่าง Third World Problems ที่เอเจนซี่ DDB นิวยอร์คทำให้กับ Water is Life โดยใช้วิธีการลักษณะเดียวกัน ด้วยการส่งคลิปวิดีโอของผู้คนในประเทศไฮติ ที่ออกมาอ่านข้อความในทวีตของของผู้ที่โพสต์โอ้อวดความสบายสไตล์ #FirstWorldProblems กลับไปให้กับคนโพสต์ ให้พวกเขาได้เห็นถึงชีวิตที่แร้นแค้นของผู้คนในประเทศโลกที่สาม

เพียงแต่เป็นคลิปที่ไปถ่ายกันไว้ล่วงหน้า ไม่ได้ถ่ายทำสดๆ แล้วส่งกลับมาคุยกับคนทางบ้านกันแบบถ่ายทอดสด จึงเป็นครั้งแรกในโลกที่เกิดการส่งคลิปวิดีโอสดกลับไปหานักเลงคีย์บอร์ดกันแบบ Real Time

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Back to top