คิดนอกกระดาษ ตอน ล็อบบี้ที่คานส์
By Weerachon Weeraworawit, Published: 31 August 2012
อ๊ะๆ! ดูรูปและชื่อตอนคอลัมน์นี้แล้ว อย่าเพิ่งนึกว่ากำลังอ่านสารคดีนำเที่ยวนะครับ จริงอยู่ว่าผมกำลังจะชวนคุณผู้อ่านไปเที่ยวเมืองคานส์ แต่ไม่ใช่การพาเที่ยวโรงแรมห้าดาวที่นั่น หากเป็นการพาทัวร์แบบเจาะลึกถึงห้องตัดสินงานโฆษณาและสิ่งที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ช่างมีผลมหาศาลกับชะตากรรมของงานบางชิ้น นั่นก็คือ… ล็อบบี้
งาน Cannes International Festival of Creativity ปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-23 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่การทำงานในฐานะกรรมการ Film Lions เริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่เริ่มการตัดสิน กล่าวคือ พอผมเดินทางไปถึงคานส์เที่ยงๆวันศุกร์ที่ 15 มิ.ย.ปุ๊บ ตอนเย็นวันนั้น เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่คานส์จะเลี้ยงดินเนอร์ต้อนรับกรรมการแต่ละหมวด โดยหมวดฟิล์มก็จะเลี้ยงกันที่โรงแรม Carlton ที่พวกเราพักกัน ทางผู้จัดงานคานส์ถือเป็นโอกาสอันดีที่กรรมการซึ่งต่างคนต่างมาจากทุกมุมโลกจะได้ทำความรู้จักมักคุ้น เป็นการ Breaking Ice ก่อนเริ่มการตัดสิน ส่วนกรรมการแต่ละคนก็จะถือโอกาสนี้แนะนำตัว แถมบางคนก็จะอวดผลงานของตนเองให้กรรมการชาติอื่นรับรู้และเอ็นดู แต่ปีนี้ ผมชิ่งครับ ฮ่าๆ! ก็แหม! วันเสาร์ที่ 16 มิ.ย. ผมก็จะต้องโดนล็อคให้ดูหนังในห้องสี่เหลี่ยมนานไปจนถึงอีกเสาร์นึงนู่นเลย เพื่อนกรรมการน่ะ รู้จักกันวันหลังก็ได้ ส่วนผมขอเที่ยวก่อน ว่าแล้วก็นั่งรถไฟยาวไปประเทศโมนาโก เยี่ยมชมเมืองซูเปอร์คาร์คือมอนติคาร์โลแบบชิลๆ แต่จริงๆแล้ว ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเลือกชิ่งดินเนอร์นัดเปิดตัวกับเพื่อนกรรมการ!!!
หนแรกที่ผมไปตัดสินงานคานส์เกิดขึ้นในปี 2007 หนนั้นไปตัดสินหมวด Outdoor Lions ยังจำความรู้สึกได้ดีเลยครับว่า ต้องแบกความคาดหวังอันหนักอึ้งของลูกน้องครีเอทีฟในทีมตัวเอง น้องๆเพื่อนๆพี่ๆครีเอทีฟทีมอื่น และของเอเจนซี่เก่าที่เคยทำงานด้วยเวลานั้นไปตัดสินด้วยเต็มบ่า จะไม่ให้รู้สึกหนักใจได้ไงล่ะครับ ก็ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ บ้านเราเวลาส่งงานไปคานส์ที ก็จะเน้นส่งแต่ในหมวด Film, Press แล้วก็เอางานในหมวด Press มาส่งเบิ้ลเข้าไปเป็นโปสเตอร์ในหมวด Outdoor อีกที โอ้ว! หมวดหลักๆของไทยแลนด์ แต่ก่อนมีแค่ 3 หมวดนี้จริงๆครับ ทั้งที่คานส์เค้ามีหมวดใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆเพื่อตอบรับกับทิศทางงานโฆษณาใหม่ๆที่ขยายตัวออกไปไม่หยุดยั้ง จึงไม่แปลกที่ทุกคนจะคาดหวังบนหมวดเอาท์ดอร์ที่ผมไปตัดสินไว้สูง ดินเนอร์ต้อนรับคราวนั้น ผมเลยไม่ชิ่ง ชิ่งได้ก็ไม่ชิ่งล่ะครับ เพราะคิดว่าต้องใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งก็เป็นไปตามสเต็ปที่วางไว้ ผมได้แนะนำตัวเอง ได้หาทางแนะนำผลงานของออฟฟิศ ของประเทศ แต่แล้ว… เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า
หลังดินเนอร์คราวนั้น เพื่อนกรรมการชาวอาร์เจนตินาผู้กระหายอยากได้รางวัลสิงโตคานส์มากกว่าผมเป็นสิบเท่า ถึงกับขอให้ผมแวะห้องเค้าเพื่อจะได้อวดงานของเค้าให้ดูถนัดๆ ประมาณว่า จะล็อบบี้กันทีก็ต้องเนียนๆล่ะครับ อย่าให้ใครเห็น ผมอดคิดในใจไม่ได้ว่า นี่แกจัดหนักนะเนี่ย แต่ก็เอาวะ! มันเป็นผู้ชายนิ เข้าห้องไปคงไม่มีใครว่า ฮ่า! แต่สิ่งที่เพื่อนกรรมการชาวละตินคนนี้โชว์ให้ผมดู เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากเรา เชื่อมั้ยครับ ไม่ใช่แค่ผลงานของเค้านะครับ ไม่ใช่แค่ผลงานของประเทศอาร์เจนติน่า ไม่ใช่แค่ผลงานของทวีปอเมริกาใต้ แต่เป็นผลงานของเพื่อนฝูงชาวละตินเค้าทั้งหมด ครับ! เหมารวมทั้ง สเปน โปรตุเกส เม็กซิโก ฯลฯ แม้แต่ผลงานของพี่น้องชาวละตินที่ไปทำงานที่นิวยอร์ค แอลเอ ลอนดอน งานเด่นๆตัวความหวังของชาวละตินถูกรวบรวมไว้ในอัลบั้มเดียวกัน กางแผ่หราอยู่ตรงหน้าผม ทำให้ผมตระหนักทันทีเลยว่า จะไม่ให้ครีเอทีฟชาวละตินผงาดกวาดคานส์กลับบ้านเป็นกอบเป็นกำได้ไงครับ เค้ารักกันดีขนาดนี้ แพ็คทีมกันมาเลย นี่แค่ห้องเอาท์ดอร์ห้องเดียวนะ เน็ตเวิร์คโยงใยในห้องอื่นอีกล่ะ ชาวเอเชียอย่างเราๆจะเอาอะไรไปสู้ล่ะครับ เพราะความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเรา ทำให้พวกเราเชื่อมกันไม่สนิทขนาดเค้า แต่ถ้ามองมุมกลับ ก็น่าจะเป็นความภูมิใจไปอีกแบบล่ะครับ ที่พวกเราชาวเอเชียก็ยังกวาดรางวัลกันได้เป็นว่าเล่น ทั้งที่ต้นทุนหลายๆอย่างของเราเทียบไม่ได้กับชาวละตินและฝรั่งหัวทอง!
ตัดภาพกลับมา ณ ปัจจุบัน จากประสบการณ์คราวนั้น ทำให้ผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเล่นเกมล็อบบี้กับใครให้เสียเวลาตั้งแต่ไก่โห่ เพราะสุดท้ายแล้ว ด้วยระบบการคัดเลือกกรรมการอันยอดเยี่ยมของคานส์ที่เน้นความหลากหลายในทุกมิติ ตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาค ทวีป ไปจนถึงการคัดกรองป้องกันความซ้ำซ้อนของกรรมการต่างชาติต่างภาษาแต่มาจากเอเจนซี่เดียวกัน เน็ตเวิร์คเดียวกัน ทั้งยังรวมไปถึงการพิจารณาแยกแยะโควต้าสำหรับ Independent Agency (อันเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คานส์เชิญผมไปเป็นกรรมการในปีนี้) เพื่อคานดุลย์กับเอเจนซี่และเน็ตเวิร์คต่างๆที่อยู่ภายใต้ Public Holding Company ใหญ่ๆทั่วโลก
ดังนั้น งานที่ดีจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นของใคร เชื้อชาติไหน เอเจนซี่ไหน ก็จะได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการที่มากความหลากหลายข้างต้นให้เข้ารอบอยู่ดี ส่วนงานที่แย่ ดันกันให้ตายก็จะจบแค่ Shortlist ซึ่ง Shortlist มันอาจมีความหมายกับเอเจนซี่และเน็ตเวิร์คที่แสวงหา Ranking ในการจัดอันดับหาผู้ชนะ Agency of the Year และ Network of the Year ในคานส์แต่ละปี
แต่ผมรู้สึกว่าไม่ได้มีความหมายอันใดกับผมและชาวโลกเลย ผมจึงไปร่วมการตัดสินครั้งนี้ด้วยจิตใจที่ปรอดโปร่ง ผ่อนคลาย อย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน ไปเพื่อเปิดหู เปิดตา เปิดใจ รับฟังมุมมองความเห็นใหม่ๆ ดูหนังโฆษณาดีๆจากทั่วโลก รับแรงบันดาลใจมาเป็นเชื้อไฟในการทำงาน แต่เอ๊ะ! ช้าก่อน! เราเป็นคนไทยนี่ เราไปในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย ผมจึงมีหน้าที่นึงที่ต้องทำให้สำเร็จ นั่นคือ ต้องมีหนังโฆษณาของคนไทยได้รับรางวัลสิงโตคานส์ในปีที่ผมไปตัดสิน ไม่ว่าหนังเรื่องนั้นจะมาจากฝีมือของครีเอทีฟคนใด เอเจนซี่ไหนก็ตาม
หน้าที่นี้เป็นภาระทางใจที่กรรมการไทยทุกคนมีร่วมกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา และต้องยกเครดิตให้กับพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆในสมาคมผู้กำกับศิลป์บางกอก ที่ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการ โดยเป็นตัวแทนของคานส์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ร่วมกับ a day Publishing อันหมายถึงภารกิจในการคัดกรองรายชื่อกรรมการส่งให้คานส์พิจารณา จะอยู่ในมือของนายกฯและรองนายกฯแต่ละปี ซึ่งการันตีว่าครีเอทีฟที่มีความรู้ ความสามารถ และบารมี เป็นที่ยอมรับของวงการ จะเป็นคนคัดสรรกลุ่มครีเอทีฟที่มีใจทำงานพัฒนาวงการโฆษณาไทย มีใจที่จะต่อสู้ให้กับงานของคนไทย ไปเป็นตัวแทนของประเทศไทยในคานส์ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ไทยเราจะมีเก้าอี้กรรมการในหมวด Cyber Lion เพิ่มขึ้นในปีนี้ และไม่แปลกอีกเช่นกันที่ปีนี้ เรามี Gold Lion ในหมวด Print Craft ผลงานของพี่สุรชัยและทีม Illusion ก็เพราะเรามีกรรมการที่ดีที่คอยสนับสนุนงานที่ดีจากประเทศไทยอย่างคุณนุช จาก McCann World Group อยู่ในห้อง Press Lion
ฉับ! ตัดภาพกลับมาอีกครั้ง ในห้องตัดสิน Film Lion เช้าวันอังคารที่ 19 มิ.ย. หลังจากที่แยกกรรมการออกเป็น 3 กลุ่ม ตะลุยดูหนังโฆษณาทั้งโลกมาตลอด 3 วันแรก พวกเรากรรมการทั้ง 23 คน ก็ได้กลับมารวมตัวกันแบบครบทีมพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครั้งแรก เพื่อดูหนังทั้งหมดที่ผ่านเข้ารอบ Longlist กันอีกครั้ง ผลงานโฆษณาในรอบ Longlist ได้รับการพิมพ์มาอยู่ในมือกรรมการทุกคน
พวกเราต้องตัดหนังโฆษณาออกไปอีกเพื่อให้เหลือสั้นที่สุดเป็น Shortlist คานส์จะได้นำไปแจกจ่ายกับนักข่าวอย่างเป็นทางการ และลงผลประกาศ Shortlist ในเว็บไซต์ให้ครีเอทีฟทั่วโลกลุ้นกันต่อไป ผมกวาดตาดูรายชื่อหนังโฆษณาไทยใน Longlist คุณพระช่วย! ฉิบหายแล้ว! แม้แต่ในลิสต์รายชื่อหนังที่ยังยาวเหยียดรอการตัดออก มีหนังโฆษณาไทยหลุดเข้ารอบเพียงเรื่องเดียว ครับ! เรื่องเดียวเท่านั้น คือหนังของ ไทยประกันชีวิต ชุด Silence of Loveหรือ พ่อใบ้ ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ที่ชวนให้ใจหายมากไปกว่านั้น ในฐานะที่ติดตามงานโฆษณาในคานส์มายาวนาน ผมรู้เลยว่า งานเข้า! เพราะที่ผ่านมา หนังของแบรนด์นี้ไม่เคยได้รับสิงโตคานส์กลับบ้านเลยซักครั้ง ใกล้ที่สุดก็ได้แค่ Shortlist เพราะเวทีคานส์เค้าตัดสินกันที่ไอเดียครับ
หนังของเราอาจจะโดนใจแต่มีไอเดียที่บางเบา ครั้งนี้ก็เช่นกัน พอหนังเรื่องนี้ฉายในรอบ Longlist จบปุ๊บ ผมก็ต้องกลั้นใจ ดูซิว่า ปฏิกิริยากรรมการจะเป็นอย่างไร
… “ดั้น ช่วยชี้แจงหน่อยซิ หนังเรื่องนี้ออนแอร์ยาวๆสามนาทีขนาดนี้ในบ้านคุณจริงเหรอ?”
… “นี่คุณ หนังเรื่องนี้เค้าจะขายสินค้าประกันชีวิตแบบไหน คุยกับใคร ลูกหรือพ่อแม่?”
… “เค้าตั้งใจทำมาเพื่อเป็นหนังแบรนดิ้งรึเปล่า?”
… เอาล่ะสิ ถามเยอะหยั่งงี้ ชักไม่งามแฮะ ดีนะ ที่พอจะรู้โจทย์แบรนด์นี้อยู่บ้าง ผมพยายามทำตัวเฉยๆเข้าไว้ ตอบไปให้ตรงคำถาม แต่แล้วก็มีคนเริ่มยิงประเด็นใหม่
… “ผมก็ชอบนะ เล่าเรื่องได้ดี แต่เราควรให้รางวัลกับไอเดีย”… มาร์ค ฝรั่งฮอลแลนด์เจ้าของ Gold Lion หนังไฮเนเก้นปีที่แล้วเปิดประเด็น
… ฝรั่งคนอื่นเริ่มพยักหน้าเห็นด้วย แต่แล้วก็มีเสียงกรรมการผู้หญิงคนนึงพูดแย้งขึ้นมา… “อืมม์! หนังเรื่องนี้ทำให้พวกเราน้ำตาไหลนี่ ชั้นว่า อย่างน้อยก็ให้เข้ารอบไปก่อน หนังดีๆอย่างนี้สมควรอยู่ในรอบ Shortlist”
… โอ้ว! เสียงสวรรค์ ผมหันไปยิ้มขอบคุณเธอซึ่งเป็นกรรมการละติน กรรมการชาวละตินคนอื่นพยักหน้า
ส่วนกรรมการเอเชียไม่มีปัญหาอยู่แล้ว พวกเดียวกัน ความคิดเห็นคล้ายๆกัน พอถึงตอนยกมือ หนังเรื่องนี้ก็ได้ผ่านเข้ารอบ Shortlist ทั้งที่กรรมการผมทองส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
“โมนิก้า ขอบคุณมากนะที่ช่วยพูดให้หนังไทย”… พอเบรคปุ๊บ ผมก็เดินออกมาคุยกับโมนิก้า เธอจับกลุ่มคุยอยู่กับกรรมการละตินซึ่งแต่ละคนก็คุ้นหน้าคุ้นตากับผมดีอยู่แล้ว เพราะตอนที่ตัดสินรอบแรกแยกเป็น 3 กลุ่ม คานส์จะสลับกรรมการให้ได้เจอกันถ้วนหน้าใน 3 วันแรก
“ชั้นชอบหนังเรื่องนี้นะ อาจจะเพราะแบคกราวด์คนละตินกับไทยเหมือนกัน พวกเราเป็นพวก Emotional ชอบอะไรที่มันคุยกับหัวใจ ฉันยังเคยไปเที่ยวเมืองไทยเลย ชอบอัธยาศัยคนไทยมาก”… โมนิก้าตอบกลับมาอย่างเป็นมิตร
“คุณว่าหนังเรื่องนี้มีโอกาสได้สิงโตมั้ย”… ผมลองแหย่ดู
“คนอื่นว่ายังไงชั้นไม่รู้ล่ะ แต่ว่าชั้นจะโหวตให้นะ อย่างน้อยก็ควรได้บรอนซ์”… คำตอบนี้ เท่ากับว่าผมกำลังจะได้เสียงโหวตจากกรรมการละตินทั้งหมด ผมจึงเปิดประเด็นใหม่เป็นการตอบแทน…
“แล้วหนังของคุณล่ะ มีเรื่องไหนที่น่าสนใจบ้าง”
เธอยิ้มให้ผมอย่างเป็นมิตรมากขึ้น พร้อมกับพรั่งพรูพล็อตหนังทั้ง 3 เรื่องของเธอที่กำลังรอลุ้นเข้ารอบ Shortlist ให้ผมฟัง
วันถัดมา เป็นวันดีเดย์ พวกเราทยอยตัดสินรางวัล Gold, Silver, Bronze ไล่ Category ไปเรื่อยๆ ดูหนังแบบเต็มๆบ้างหรือดูแค่ภาพนิ่งในหนังบ้างเพื่อเป็นการประหยัดเวลา จนกระทั่งมาถึงหนังพ่อใบ้…
หนังเรื่องนี้จะได้สิงโตกลับบ้านหรือไม่ การล็อบบี้ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญที่สุด คือคุณค่าของผลงาน ผมตัดสินใจว่า หนังไทยจะได้รางวัลคานส์หรือไม่ ในเวลาสำคัญเช่นนั้น ผมต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากหนังเรื่องนี้เอง สิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุด ณ เวลานั้น ก็แค่พูดดักคอไม่ให้เพื่อนกรรมการคนอื่นเรียกร้องให้ตัดสินจากภาพนิ่ง ที่เหลือ เป็นหน้าที่ของหนังเรื่องนี้ที่ต้องช่วยตัวเอง
“ก่อนจะโหวต ผมขอให้เปิดดูหนังเรื่องนี้แบบเต็มๆครับ อยากให้พวกคุณได้ลองจินตนาการดูว่า มีแบรนด์อยู่แบรนด์หนึ่งในประเทศคุณ ทุกปีจะทำหนังโฆษณาความยาว 2-3 นาที ออกมาฉายในฟรีทีวีเป็นเดือนๆ เพื่อสร้างแบรนด์และให้แรงบันดาลใจคนดู และปีนี้พวกเราคนไทยก็ได้ดูหนังเรื่องนี้เหมือนทุกปี”
… เสียงโฆษกในหนังพ่อใบ้จบลง พร้อมเสียงซื้ดซ้าดสูดน้ำมูกของกรรมการบางคน กรรมการส่วนมากน้ำตารื้น ภาษาหนังของพี่ต่อ ธนญชัย ปล่อยมนต์มัดใจกรรมการจำนวนมาก
“โหวต”… เจ้าหน้าที่จัดงานในห้องบอกกรรมการให้โหวต ทุกคนทยอยยกมือ
“13 เสียง”… เจ้าหน้าที่ขานคะแนนเสียง ผมใจหาย การที่หนังจะได้สิงโตหรือไม่ต้องได้ Majority Vote เกิน 3 ใน 4 จากกรรมการ 23 คน เราต้องการ 15 เสียง
“ผมว่า เราควรดูที่ Impact ของหนังที่มีต่อคนดูด้วย ไม่ใช่แค่ดูที่ไอเดีย” … เฟอร์นันโด พี่ใหญ่ของชาวละตินพูดเกลี้ยกล่อมกรรมการคนอื่นๆ
“ผมว่าเราควรให้รางวัลแก่หนังเรื่องนี้นะ มันเป็นหนังที่กินใจมากๆ”… คูการ์ กรรมการหนุ่มชาวละตินอีกคนเสริมขึ้น
“ผมเห็นพวกคุณแอบร้องไห้ให้หนังเรื่องนี้นะ พวกคุณชอบมันไม่ใช่เหรอ แล้วทำไมหายไป 2 เสียงล่ะ”… ผมได้ที จึงแหย่ไปยิ้มๆ ทำใจดีสู้สิงโตข้างหน้าที่กำลังจะหลุดลอยหายไป
“14… ”… เสียงเจ้าหน้าที่ขานคะแนนเสียงดังขึ้นตามจำนวนมือที่ยกเพิ่มขึ้น ครั้งนี้เป็นมือของแองกัส เพื่อนกรรมการชาวเยอรมัน
“15… ”… ปีเตอร์ เพื่อนกรรมการชาวเบลเยียมตัดสินใจยกมือเพิ่มคะแนนเสียงสุดท้ายให้กับหนัง เท่ากับว่าพ่อใบ้ได้สิงโต
ฝรั่งผมทองผู้บูชาไอเดียยิ่งกว่าพระเจ้า 2-3 คน โวยวายขึ้นว่า อ้าว! ได้รางวัลไปแล้วเหรอ พวกเค้าไม่เห็นด้วยนะ หนังต้องทำงานกับหัวคิด ไม่ใช่หัวใจ แต่วินาทีนั้น ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะเป็นกฎเหล็กของคานส์ โหวตให้รางวัลสูงขึ้นได้ แต่โหวตลงไม่ได้
ผมเป่าปากยิ้มในใจอย่างโล่งอก เอาล่ะ! ต่อจากนี้จะได้ไล่ยิงงานฝรั่งแบบไม่ต้องเกรงใจกันซักที
แค่หนังไทยเรื่องเดียวก็ชวนให้พาดพิงถึงหนังที่ได้ Grand Prix แล้วล่ะครับ สำหรับผม เหตุผลที่ Chipotle คว้าชิ้นปลามันไปครอง หลักๆก็มาจากกรรมการทั่วโลกโดยรวมเค้าหมั่นไส้หนังไอเดียจ๋าๆและ Execute คมๆแบบ Very ฝรั่งนั่นแหละครับ หนังตัวเก็งของ Canal+ และ The Guardian ถึงได้จบลงแค่ Gold ส่วน Chipotle เป็นหนังของอเมริกันก็จริง แต่มีประเด็นใหม่ในการพูดเรื่องเกษตรกรรมที่เป็นของชาวโลก
คิดดูแล้วกันมันน่าหมั่นไส้ขนาดไหน ขนาดหนังตัวเก็งจากอินเดียเรื่อง I am Mumbai ยังโดนยิงร่วงกระจุยเลยครับ ฝรั่งพากันยิงว่า ไอเดียไม่ใหม่ กำกับฯห่วย ตัวแสดงเล่นโอเว่อร์ไป ทั้งที่กรรมการสายเอเชียกับละตินที่ต่างชื่นชอบหนังโฆษณาหนังสือพิมพ์ของมุมไบเรื่องนี้พยายามโน้มน้าวแทบตายก็ไม่รอด คือพวกเราไม่รู้จักเจ้าของผลงานชิ้นนี้เป็นการส่วนตัวหรอกครับ แต่เรารักในคุณค่าของผลงาน จึงเป็นความสะใจครั้งใหญ่ที่หนังอินเดียเรื่องนี้ไปคว้า Gold Lion กำกับฯยอดเยี่ยมจากห้อง Film Craft ไปครอง… กำกับฯไม่ดีเหรอ? แสดงไม่ดีเหรอ?… ฮ่าๆๆ
วันถัดมา ตอนพักเที่ยง ผมพาเพื่อนกรรมการหลายๆคนที่เรียกร้องอยากกินอาหารไทยไปกินร้านมาลา ทัมไค่เหม็ง President ห้อง Film Lion ของเราก็ไปด้วย เค้าขอบคุณผมที่ช่วยสนับสนุนหนังพ่อใบ้ที่มาจากเอเจนซี่เดียวกับเค้า ผมตอบเค้าไปว่า คุณก็รู้ว่าผมไม่ได้สู้ให้หนังที่มาจากเอเจนซี่ของคุณ แต่ผมสู้ให้กับหนังไทย ทัมไค่เหม็งซึ่งคุ้นเคยกับผมเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จากการที่เราเจอกันบ่อยๆในการตระเวนตัดสินงานโฆษณาทั่วโลก บอกผมว่า ดีใจนะที่มีคุณมาอยู่ในห้องฟิล์มด้วย เพราะคุณกล้าพูดกล้าสู้เพื่อปกป้องงาน คนไทยรวมไปถึงคนเอเชียโดยรวมมักจะนั่งเงียบๆยิ้มๆขี้อายๆในห้องตัดสิน ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในการงัดความเห็นกับชาวโลก
ผมตอบไปในใจว่า ก็แหม! ผมกำลังนั่งอยู่ในล็อบบี้ที่คานส์นี่นะ จะให้นั่งเฉยๆก็กระไรอยู่ แล้วกรรมการพวกนั้น อีกกี่ร้อยปีเราจะได้เจอกันก็ไม่รู้ เจอก็ไม่กลัว คุณเก่งเราก็เก่ง จะไปนั่งเกรงใจกันทำไม ฝรั่งไม่ใช่พ่อของเรานี่ คุณว่าจริงมั้ย: )
Leave a Reply